สภานิสิตรุ่นแรก เมื่อ “ประชาธิปไตยเบ่งบาน”
กระแสประชาธิปไตยเบ่งบานหลังกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานของนิสิตด้วยโดยเปลี่ยนจากระบบสโมสรแบบเดิม
การเคลื่อนไหวครั้งแรกของขบวนการนิสิตนักศึกษาที่ส่งผลสะเทือนทั่วทั้งประเทศเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ เมื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เริ่มรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เพราะเห็นว่าการครอบงำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นปัญหาของชาติ ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะการขาดดุลทางการค้ากับประเทศญี่ปุ่นในอัตราที่สูงมาก การดำเนินการของนิสิตนักศึกษาในครั้งนั้นจึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะลดการที่เสียเปรียบดุลการค้ากับญี่ปุ่นอยู่พอดี พร้อมกันนั้นก็ได้รณรงค์ให้ใช้สินค้าไทยแทน ซึ่งนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวนี้เป็นจำนวนมาก มีการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ผ้าดิบของไทยในการตัดเย็บเสื้อผ้าแทนผ้าที่ทอจากโรงงานของญี่ปุ่น นอกจากการรณรงค์โดยการติดโปสเตอร์และจัดอภิปรายแล้ว นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้นำเสื้อผ้าดิบมาขายในมหาวิทยาลัย และชักชวนให้ใส่เสื้อผ้าดิบด้วย ผู้นำการรณรงค์คนสำคัญ คือ นายธีรยุทธ บุญมี นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยสามารถหาร้านตัดเสื้อผ้าดิบแขนสั้นในราคาเพียงตัวละ ๒๐ บาทพร้อมผ้า แขนยาว ๒๕ บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ถูกมาก การรณรงค์ครั้งนี้ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งหันมาเห็นความสำคัญของการใช้สินค้าไทยซึ่งทำให้เห็นได้ว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาได้เริ่มบทบาทการเป็นแกนกลางของขบวนการมวลชนในยุคสมัยนี้
ถึงแม้ว่าการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นจะมิได้ประสบผลสำเร็จอย่างที่คาดไว้ แต่ความสำคัญที่มีมากไปกว่านั้นของการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น คือ เป็นก้าวสำคัญของการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนิสิตนักศึกษา ส่งผลให้สื่อมวลชนเผยแพร่กิจกรรมของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยอย่างแพร่หลาย รวมทั้งยังเป็นการปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นิสิตนักศึกษาด้วย