๖๗
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากเหตุการณ์อุทกภัยในกรุงเทพ มหานครและ ปริมณฑลในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔
เมื่อมีปัญหาเกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีมาตรการช่วยเหลือทั้งนิสิตบุคลากรและประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ในส่วนของนิสิตมหาวิทยาลัยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่นิสิตที่ประสบภัยโดยพิจารณาจากความเสียหาย โดยให้ทุนการศึกษา เลื่อนเวลาการลงทะเบียนและจัดหาที่พักชั่วคราวแก่นิสิต สำหรับบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีมาตรการช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นได้ช่วยเหลือทั้งเงินยืมฉุกเฉินเงินช่วยเหลือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ จัดหาที่พักและที่จอดรถชั่วคราวตลอดจนอนุญาตการลาเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติงานตามปรกติได้ ส่วนการช่วยเหลือในระยะยาวมหาวิทยาลัยได้มีโครงการเงินยืมเพื่อซ่อมแซมที่พักอาศัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่ผู้ประสบภัยหลังน้ำลดด้วย
ส่วนการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่สังคมนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดโครงการและกิจกรรมหลักๆ ๔ ประการ คือ
๑. การแจกจ่ายถุงยังชีพ
๒. การตั้งโรงครัวเพื่อทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยในชุมชนต่างๆ วันละไม่น้อยกว่า ๑๒,๐๐๐ ชุด โดยเฉลี่ย ร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนพึ่งพา(ภา)ยามยาก
๓. การเป็นศูนย์พักพิงของประชาชน
๔. การสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยเหลือสังคม รวมทั้งบุคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมคณะทำงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ด้วย
ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบครบวงจร กิจกรรมต่างๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการแบ่งเป็น ๓ ระยะ ดังนี้
ระยะที่ ๑ ขั้นเตรียมการก่อนเกิดอุทกภัย
- การระดมคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องอุทกภัยมาจัดทำเอกสารวิชาการเรื่องแนวคิดการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
- การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติเฉพาะกิจขึ้น เพื่อเป็นศูนย์บูรณาการการบริหารจัดการ
- การแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อกำหนดโยบายและแผนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ประสานงาน และประเมินผลการทำงานในแต่ละวัน โดยกรรมการชุดนี้จะมีการประชุมทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ)
- การมีการกำหนดเจ้าภาพ ในทุกๆกิจกรรม
- การเตรียมการสื่อสารในภาวะวิกฤติน้ำท่วม โดยแต่งตั้งคณะทำงานสื่อสารในภาวะวิกฤติเพื่อให้การสื่อสารมีเอกภาพและไปในทิศทางเดียวกัน
ระยะที่ ๒ การบริหารจัดการช่วงเกิดอุทกภัย
- รวบรวมข้อมูลจากนักวิชาการของจุฬาฯและอาสาสมัครที่ลงพื้นที่ไปช่วยตามจุดต่างๆ และข้อมูลทุติยภูมิทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
- วิเคราะห์ข้อมูล จากแหล่งต่างๆ
- ระบุปัญหาจากมหาอุทกภัยได้เป็น ๑๐ ประเด็นหลักที่สำคัญ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีศักยภาพที่จะลงไปให้ความช่วยเหลือปัญหาทั้ง ๑๐ ประเด็นนี้ ได้แก่
๑. ปัญหาด้านการขาดแคลนปัจจัย ๔ อาหาร
๒. ปัญหาด้านการขาดแคลนปัจจัย ๔ ที่อยู่อาศัย
๓. ปัญหาด้านการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค
๔. ปัญหาด้านสัตว์เลี้ยง
๕. ปัญหาด้านสัตว์เศรษฐกิจขาดแคลน
๖. ปัญหาด้านสาธารณสุข
๗. ปัญหาด้านความปลอดภัย
๘. ปัญหาด้านการขนส่งขณะน้ำท่วม
๙. ปัญหาด้านการขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้
๑๐ การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอุทกภัย
ระยะที่ ๓ การฟื้นฟูสภาพหลังอุทกภัย และการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน
- การสร้างสะพานไม้ ความยาว ๑.๖ กิโลเมตร บริเวณทางลงด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านต่างๆ
- การจัดทำคู่มือฟื้นฟูน้ำท่วม ฉบับสามัญประจำบ้าน เพื่อแจกจ่ายไปยังผู้ประสบอุทกภัย
- การคัดเลือกพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ๒-๓ พื้นที่ ที่เป็นตัวแทนเขตกรุงเทพมหานครและเขตต่างจังหวัด เพื่อระดมสรรพกำลังความรู้ทั้งหมดของชาวจุฬาฯ เพื่อเข้าไปดูแลในเรื่องต่างๆ เช่นด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง แผนที่ สาธารณสุขการศึกษาสังคม การฟื้นฟูอาชีพ สัตว์เลี้ยงและสัตว์ เศรษฐกิจ และแผนการระวังภัย เตือนภัย อพยพ เป็นต้น
- การระดมนักวิชาการมาต่อยอดความรู้เพื่อจัดทำเอกสารวิชาการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนเสนอผู้เกี่ยวข้องต่อไป