แหล่งรวมสรรพวิทยาการอันเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ทั้งการสืบทอด อนุรักษ์ และเผยแพร่ โดยเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักดีว่าการจัดการศึกษาตามหลักสูตรเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการของสังคม สมควรต้องเพิ่มบทบาทในการถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ที่ได้สร้างสมในมหาวิทยาลัยไปสู่สังคมอย่างทั่วถึงและกว้างไกลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของบุคคลทุกระดับ อายุ อาชีพ และการศึกษาโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลาหน่วยงานที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เหล่านี้ อาทิ
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำความรู้และวิทยาการจากมหาวิทยาลัยไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้นศูนย์บริการวิชาการฯ จึงเป็นแกนกลางในการรวมทรัพยากรบุคคลสาขาต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในลักษณะสหสาขาเพื่อให้บริการสังคมทั้งภาคราชการรัฐวิสาหกิจ และเอกชนในรูปแบบของการวิจัย การให้คำปรึกษา การพัฒนาบุคลากรเพื่อนำความรู้ทางวิชาการไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติโดยให้การบริการในสาขาต่างๆ เช่น การศึกษา พลังงานสิ่งแวดล้อม การเงิน สาธารณสุขอุตสาหกรรม ประชากรการสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศการท่องเที่ยว คมนาคมขนส่ง พัฒนาเมืองการประปาและสุขาภิบาลเป็นต้น
ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานวิสาหกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ในการให้บริการวิชาการในรูปแบบของการจัดการฝึกอบรมให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนผลิตสื่อการเรียนการสอนและเผยแพร่สื่อเหล่านี้ให้แก่บุคคลทุกระดับอายุ อาชีพ การศึกษา เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ การให้บริการวิชาการของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ ประกอบด้วยการจัดการฝึกอบรมทั้งในและนอกสถานที่ และการใช้สื่อการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ ได้แสดงศักยภาพในการจัดการฝึกอบรม การผลิตสื่อ รวมทั้งมีความเจริญก้าวหน้าในกิจกรรมด้านต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด
ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ รัฐบาลมีนโยบายให้มีมหาวิทยาลัยแกนนำจัดบริการอุดมศึกษาในพื้นที่ภูมิภาค เพื่อจัดการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตในระดับท้องถิ่น หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มีความต้องการให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ในท้องถิ่นหากแต่ติดขัดด้วยงบประมาณและแรงกดดันด้านการเมืองที่ประสงค์ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ทั้งหมดกว่า ๓๐ แห่ง รัฐบาลโดยทบวงมหาวิทยาลัยจึงลดขนาดโครงการเป็นการขยายวิทยาเขตสารสนเทศ แทนการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยไม่อนุมัติให้จัดตั้งวิทยาเขตด้วยเหตุผลคือมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายการจัดตั้งวิทยาเขต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องเป็นหนึ่งเดียวแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถสนับสนุนนโยบายนี้ได้ด้วยการเตรียมความพร้อมทางวิชาการบุคลากร สถานที่เพื่อการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ให้เป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่โดยตรง ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบ และโดยมติ ค.ร.ม.ได้อนุมัติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการเตรียมจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดน่าน ตรัง และศรีสะเกษ โดยใช้ชื่อว่า “สถาบันเทคโนโลยีขั้นสูง” แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ชะลอภารกิจนี้และปรับเปลี่ยนเป็นมุ่งเน้นการพัฒนาวิชาการในท้องที่ตาม ความต้องการและความพร้อมของชุมชนโดยจัดกิจกรรมในจังหวัดน่านเป็นจังหวัดนำร่องและมีสำนักงาน เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคเป็นหน่วยบริหาร ปัจจุบันมีพื้นที่ปฏิบัติงาน ๔ แห่งประกอบด้วย
๑. ส่วนอำนวยการกลาง อาคารจามจุรี ๕ ชั้น ๗ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒. สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ (ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
๓. สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน (สถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์) ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
๔. โครงการจัดตั้งสำนักงานจัดการพื้นที่จุฬาฯ-สระบุรี อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี